การกำกับดูแลกิจการที่ดี
บริษัทมีการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจต่อผู้ถือหุ้นนักลงทุน ผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อเพิ่มมูลค่า และส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท
คณะกรรมการบริษัทมีกระบวนการในการทบทวนการนำ “หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560” (CG Code) ไป ปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบททางธุรกิจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ตลอดจนกลยุทธ์ และแผนธุรกิจประจำปีระยะสั้น ระยะปานกลาง และ/หรือระยะยาวของกิจการสอดคล้องกับการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการ โดยมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย รวมทั้งมีการทบทวนโครงสร้างคณะกรรมการทั้งองค์ประกอบ สัดส่วนกรรมการอิสระ ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของคณะกรรมการทั้งคณะ โดยคณะกรรมการมุ่งเน้นให้การสรรหาและคัดเลือกกรรมการมีกระบวนการ ที่โปร่งใสและชัดเจน อีกทั้งความเป็นอิสระของคณะกรรมการจะเอื้อต่อการให้กรรมการแต่ละท่านแสดงความคิดเห็นและใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจอย่างมีอิสระ นอกจากนี้คณะกรรมการยังจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ประจำปีของคณะกรรมการ คณะกรรมการชุดย่อย และกรรมการรายบุคคล โดยผลการประเมินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการและคณะกรรมการต่อไป
การกำกับดูแลกิจการของบริษัท ในรอบปี 2566 - 2567
นโยบายการกำกับดูแลกิจการ
คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัตินโยบายกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจและเป็นบรรทัดฐานให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัด นโยบายกำกับดูแลกิจการที่ดีถูกจัดทำขึ้นตาม CG Code ของ กลต. โดยมุ่งมั่นที่จะนำเอาหลักสำคัญในการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาใช้ในการดำเนินงานของบริษัท
ในการนี้ คณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ ทำหน้าที่กำกับดูแลและกลั่นกรองงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการ รวมถึงการติดตามผล ทบทวน และปรับปรุงนโยบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และสอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยให้นำหลักปฏิบัติตาม CG Code มาปรับใช้ในการกำกับดูแลกิจการของบริษัท เพื่อให้เกิดผลดังต่อไปนี้
- ให้สามารถแข่งขันได้ และมีผลประกอบการที่ดี โดยคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว
- สร้างความเชื่อมั่นสำหรับผู้ถือหุ้น และความเชื่อถือสำหรับบุคคลรอบข้าง
- ให้มีการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิ และมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสีย
- สร้างความโปร่งใส ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ (Accountability) ของคณะกรรมการบริษัท
- เป็นประโยชน์ให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อม
จรรยาบรรณบริษัท
บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) (AWC) มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์ และยุติธรรรมต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายในทุกกระบวนการของการดำเนินธุรกิจ AWC จึงได้จัดทำ และประกาศใช้จรรยาบรรณทางธุรกิจขององค์กรอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยกำหนดให้บุคลากรทุกคนในกลุ่มบริษัทตั้งแต่ระดับกรรมการ ผู้บริหาร รวมถึงพนักงานยึดถือและปฏิบัติตาม ทั้งนี้ หากมีการละเมิดหรือฝ่าฝืนจรรยาบรรณธุรกิจ นโยบาย หรือ กฎหมายและระเบียบข้อบังคับใด ๆ จะต้องรับโทษทางวินัย ในปี 2566 AWC ได้มีการทบทวนและปรับปรุงจรรยาบรรณธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน อีกทั้งกำหนดให้การปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจของพนักงานถือเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงานของพนักงานรายบุคคลและการพิจารณาผลตอบแทน ซึ่งจะมีผลต่อการประเมินผลงานของพนักงาน รวมไปถึงค่าจ้าง และค่าตอบแทนอื่น ๆ