เกี่ยวกับหน่วยงานตรวจสอบภายใน

สำนักตรวจสอบภายใน ทำหน้าที่สอบทานระบบบริหารจัดการและประเมินประสิทธิภาพการควบคุมภายใน เพื่อให้มั่นใจว่าหน่วยรับตรวจมีการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เพียงพอ เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ภายใต้การปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพตรวจสอบภายใน ที่กำหนดโดยสถาบันผู้ตรวจสอบภายในสากล (The Institute of Internal Auditors : IIA) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและแสดงถึงความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัท แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

ขอบเขตของการตรวจสอบภายใน

  1. สอบทานและประเมินความเพียงพอและความมีประสิทธิผลของการบริหารความเสี่ยง และการควบคุมภายในของบริษัทและบริษัทย่อย
  2. สอบทานและประเมินการควบคุมภายในของระบบการปฏิบัติงานของหน่วยงานภายในบริษัทให้ปฏิบัติตามนโยบาย ระเบียบ ข้อบังคับ อำนาจการอนุมัติ รวมทั้งข้อกำหนด กฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ราชการที่เกี่ยวข้อง
  3. สอบทานความเชื่อถือได้ของข้อมูลทางบัญชีและรายงานทางการเงิน วิธีการบันทึกบัญชี และมาตรฐานการบัญชี
  4. ประเมินความถูกต้องเชื่อถือได้และความเพียงพอของระบบงานต่างๆ ระบบสารสนเทศ และความปลอดภัยของระบบสารสนเทศ ให้มีการควบคุมภายในที่รัดกุม เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
  5. สอบทานการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี

สายการบังคับบัญชา

  1. สำนักตรวจสอบภายในขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
  2. คณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้พิจารณาและให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้ง ถอดถอน โยกย้าย ประเมินผลการปฏิบัติงานหรือการเลิกจ้างหัวหน้าสำนักตรวจสอบภายใน

ความเป็นอิสระ

  1. สำนักตรวจสอบภายในมีความเป็นอิสระ โดยผู้ตรวจสอบภายในรายงานตรงต่อหัวหน้าสำนักตรวจสอบภายใน และหัวหน้าสำนักตรวจสอบภายในรายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
  2. กิจกรรมการตรวจสอบมีการดำเนินการอย่างเป็นอิสระ ทั้งในด้านขอบเขตของการตรวจสอบ ขั้นตอน ระยะเวลา เนื้อหาของรายงาน
  3. หัวหน้าสำนักตรวจสอบภายในและผู้ตรวจสอบภายใน ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบหรือมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานอื่นของบริษัทและบริษัทย่อย ที่มิใช่งานเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน หรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อความเป็นอิสระและความเที่ยงธรรมของผู้ตรวจสอบภายใน
  4. หากความเป็นอิสระถูกกระทบ ทั้งโดยข้อเท็จจริง หรือโดยพฤติกรรมที่แสดงให้เห็น ผู้ตรวจสอบภายในจะเปิดเผยรายละเอียดและรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ

หน้าที่และความรับผิดชอบของสำนักตรวจสอบภายใน

  1. จัดทำแผนงานตรวจสอบภายในประจำปีตามระดับความเสี่ยงของกิจกรรม และนำเสนอคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อพิจารณาอนุมัติ
  2. สอบทาน ประเมิน ให้คำแนะนำ เพื่อปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานของบริษัทและบริษัทย่อย ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน การกำกับดูแลกิจการ รายงานความเชื่อถือได้และความครบถ้วนของข้อมูลทางการเงิน และติดตามดูแลการปฏิบัติงานต่างๆ ของบริษัทและบริษัทย่อย ให้เป็นไปตามนโยบาย ระเบียบคำสั่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
  3. ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งข้อบังคับ ระเบียบ ข้อกำหนด คำสั่ง มาตรฐาน นโยบาย แผนงานหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
  4. ตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับการดำเนินการอันอาจมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การทุจริต การกระทำที่ผิดปกติ หรือความบกพร่องที่สำคัญในระบบการควบคุมภายใน
  5. ให้คำปรึกษา และคำแนะนำด้านระบบการควบคุมภายในของกระบวนการปฏิบัติงานใหม่ที่บริษัทจะนำมาใช้
  6. ประสานงานกับหน่วยงานภายนอกที่ทำกิจกรรมตรวจสอบอื่นๆ เช่น ผู้สอบบัญชี และองค์กรกำกับดูแลอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการตรวจสอบมากขึ้นและลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน รวมทั้งติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามข้อแนะนำจากการตรวจสอบของผู้สอบบัญชี เพื่อให้มั่นใจว่าฝ่ายบริหารได้นำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล
  7. ติดตามและตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายจัดการในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาให้สิทธิ และรายงานผลต่อคณะกรรมการตรวจสอบ

หัวหน้างานตรวจสอบภายใน

นายณัฏฐพัศฐ์ มงคลธนานนท์